ตั้งศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์

472

เกษตรฯ เปิดโครงการตั้งศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) จ.ประจวบคีรีขันธ์

รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโครงการตั้งศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) จ.ประจวบคีรีขันธ์ มุ่งหวังให้มีการตั้งศูนย์ฯ กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการเลี้ยงโคนม เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบของเกษตรกรรายย่อยให้สูงขึ้น

วันที่ 28 มกราคม 2565 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการตั้งศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) โดยมี นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมพิธี ณ บริเวณโครงการเลี้ยงโคนมในระบบชีวภาพ (วัวหลุม) ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยโครงการดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ภายใต้โครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวมและแปรรูป ของสถาบันเกษตรกร (พ.ร.ก. เงินกู้โควิด พ.ศ.2563) จำนวนงบประมาณทั้งสิ้น 8,455,000.00 บาท แบ่งเป็น เงินอุดหนุนจากภาครัฐ 7,609,500 บาท และเป็นเงินที่ชุมนุมสหกรณ์โคนมภาตใต้และตะวันตก จำกัด สมทบ จำนวน 845,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนดำเนินการก่อสร้างและจัดซื้อครุภัณฑ์พร้อมติดตั้งอุปกรณ์กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ TMR ประกอบด้วย โรงเรือนเก็บและผสมอาหาร TMR บ่อหมักอาหารหยาบ ลานคอนกรีต รถบรรทุก 6 ล้อ แบบดั้ม รถตัดล้อยาง ขนาด 100 แรงม้า เครื่องผสมอาหาร TMR และเครื่องบรรจุอาหารสุญญากาศแบบ 2 หัว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รู้สึกชื่นชมความตั้งใจของชุมนุมสหกรณ์โคนมภาตใต้และตะวันตก จำกัด ในการจัดตั้งศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) ได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ได้เสนอโครงการขึ้นไป และทราบว่านอกเหนือจากศูนย์แห่งนี้แล้ว ยังมีอีกศูนย์หนึ่งที่จัดตั้งได้สำเร็จ คือ สหกรณ์โคนมไทย – เดนมาร์คประจวบคีรีขันธ์ จำกัด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงที่มีเป้าหมายให้มีการจัดตั้งศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการเลี้ยงโคนม เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ในขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบของเกษตรกรรายย่อยให้สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จในการลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพน้ำนมซึ่งเป็นผลผลิตได้มากน้อยเพียงใดนั้น ต้องมีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากการดำเนินงานประสบผลสำเร็จ จะเป็นการนำร่องให้กับสหกรณ์อื่น ๆ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณอุดหนุนการดำเนินงานที่จะสามารถพัฒนาเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับเกษตรกรทุกสาขาอาชีพต่อไป

ทั้งนี้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงโคนมมากเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกระจายอยู่ทุกอำเภอ รวม 8 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 1,059 ราย จำนวนโคนม 36,915 ตัว ผลิตน้ำนมดิบ 64,112 ตันต่อปี โดยผลิตน้ำนมดิบผ่านระบบสหกรณ์โคนม มีสหกรณ์โคนม จำนวน 6 แห่ง วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคนม จำนวน 1 แห่ง และกลุ่มผู้เลี้ยงโคนม จำนวน 1 แห่ง

กรมการข้าว ข่าว